วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บท ธรรมะ คติสอนใจ


ดาวน์โหลดเพลงธรรมะ และ อื่น

จะเป็นกัลยาณมิตร ต้องทำอย่างไร

--------------------------------------------------------------------------------


 การสร้างคุณลักษณะของตนเองให้เป็นกัลยาณมิตร จะต้องรู้ว่าลักษณะของกัลยาณมิตรเป็นอย่างไร ในมงคล ๓๘ นั้น ข้อที่ ๒ คือ ให้คบบัณฑิต บัณฑิตนั้นมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตร ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เข้าไปคบหา คลุกคลี สนิทสนมด้วย 

ลักษณะของกัลยาณมิตรมี ๗ ประการ คือ 

 ๑. ปิโย หมายถึง น่ารัก เป็นคนน่ารัก 
คือ สามารถเข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเองได้ เห็นอกเขาอกเรา ช่วยเหลือชีวิตเราได้ เป็นเพื่อนฟังที่ดี ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ถ้าเป็นครู ก็ทำให้ผู้เรียนเข้าไปปรึกษาไต่ถามได้ โดยการทำตนเป็นกันเอง 

 ๒. ครุ หมายถึง ความน่าเคารพ 
คือ เป็นครูที่น่าเคารพ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจได้ ครูที่ดีก็ต้องสามารถทำให้เกิดความอบอุ่นใจ และเป็นที่พึ่งได้ ให้ความปลอดภัยได้ 

 ๓. ภาวนีโย หมายถึง น่าเจริญใจ 
คือ มีความรู้จริง ทรงภูมิธรรมปัญญาอย่างแท้จริง และฝึกฝนปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าสอนเขาแต่ตัวเองไม่ทำ วิวัฒนาการใหม่ ผู้ที่จะสอนเขาก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ และสอนให้เข้ากับสถานการณ์ สภาพแวดล้อมนั้นได้ 
เขาเรียกว่าปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ และเป็นที่น่ายกย่อง 

ควรเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่พบเห็น หรือไม่ก็สามารถทำให้ศิษย์เอ่ยอ้างเวลาพูดถึง และระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งได้อย่างมั่นใจ และสร้างความภูมิใจให้แก่ศิษย์ได้ 

 ๔. วัตตา จ หมายถึง การรู้จักพูดให้ได้ผล 
คือ รู้จักพูดชี้แจงให้เข้าใจ เป็นผู้ที่สามารถชี้แจงอะไรให้เข้าใจได้ รู้ว่าเมื่อใดควรพูดอะไร และจะพูดอย่างไร คอยแนะนำ ตักเตือนได้ 

 ๕. วจนักขโม หมายถึง ความสามารถที่จะอดทนต่อถ้อยคำ 
คือ พร้อมที่จะรับฟังการปรึกษา การซักถาม แม้ว่าผู้ที่มาปรึกษานั้น จะพูดจู้จี้จุกจิก ไม่ชวนฟัง ตลอดจนพูดล่วงเกิน แม้จะถูกตักเตือน วิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ก็ฟังได้ไม่เบื่อ และไม่เสียอารมณ์ เพราะว่า มีขันติ มั่นคง เรียกว่า อดทนต่อถ้อยคำ 

 ๖. คัมภีรัญจ กถังกัตตา หมายถึง การรู้จักวิธีแถลงเรื่องที่ลึกล้ำหรือลุ่มลึก 
หมายถึง ชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เข้าใจง่าย เมื่อเป็นครูต้องแถลงเรื่องได้ล้ำลึก สามารถพูดให้ผู้ฟังให้เข้าใจได้ง่าย 

 ๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย หมายถึง ไม่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย 
เช่น เวลาเป็นครูก็สอนอย่างหนึ่ง พอสอนเสร็จแล้ว ก็จะไม่ชักชวนเด็กไปกินเหล้ากัน เป็นต้น 


 
ขอบคุณเนื้อหาจาก มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ


ข้อคิดของชีวิต

--------------------------------------------------------------------------------

 ชีวิตเป็นเหมือนโรงละครโรงใหญ่ มีบทดีบ้าง บทไม่ดีบ้าง ให้เราเป็นผู้เล่น โลดแล่นไปตามบทบาท ทั้งสุขและทุกข์ที่จะคอยเรา ณ จุดใดจุดหนึ่งก็ได้ในหนทางข้างหน้า 

เมื่อเผชิญหน้ากับทุกข์ที่ไม่คาดฝัน คนพาลบางคนฆ่าคนที่ทำความทุกข์ให้กับตน บางคนยอมฆ่าตนเอง ตายหนีจากความทุกข์ บางคนสามารถฆ่าทั้งคนอื่นและตนเองได้ 

แต่บัณฑิตผู้มีปัญญา เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมา ก็รู้จักวิธีที่จะฆ่าความทุกข์ ไม่ฆ่าคนอื่น และก็ไม่ฆ่าตนเอง 

 สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับชีวิต ก็คือ วิชาความรู้ เพราะความรู้เป็นที่พึ่ง เป็นมิตรแท้ซึ่งจะคอยช่วยเหลือเราในยามสุขและยามทุกข์ได้ตลอดไป มิตรภายนอกส่วนมากช่วยเหลือเราเฉพาะในยามสุข แต่ในยามทุกข์นี้ มิตรเหล่านี้ก็จะตีตนออกห่าง แต่ถ้าเรามีความรู้ ความรู้ก็จะอยู่กับเราตลอดเวลา 

 คนในโลกต่างเห็นคุณค่าของความรู้และแสวงหาความรู้อยู่ทั่วไป คนมีทรัพย์มากจึงพยายามส่งบุตรหลานไปศึกษาเล่าเรียนยังที่ไกล เช่น ตักสิลา บิดามารดาที่ไม่สามารถส่งบุตรไปเรียนถึงตักสิลาได้ ก็ขวนขวายส่งไปเรียนตามสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อตามนครต่าง ๆ 

 

 ความจริงนั้น วิชาความรู้มีอยู่เต็มโลก มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีอยู่ในบ้านเมือง ในป่า ในน้ำ ในอากาศ ในคน ในสัตว์ ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้ บุคคลที่ฉลาด มีปัญญา อาจหาความรู้ได้จากทุกหนทุกแห่ง ถ้าพูดตามความจริง โลกทั้งโลกได้ตั้งสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่ยิ่งใหญ่แล้ว 

เพราะทุกสิ่งและทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา คือ ตัวความรู้ 

ส่วน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือ ครูทั้ง ๖ ที่คอยบอกความรู้ต่าง ๆ แก่เรา 

ส่วนเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งดีทั้งชั่วที่ทยอยกันเกิดขึ้นมาประสบกับชีวิตเราทุกวัน ๆ ก็คือ บทเรียนของเรา 


 เมื่อโลกทั้งโลกเป็นโรงเรียน เราเกิดมาในโลกก็เท่ากับเราเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา หน้าที่ของเราก็คือ คอยรับบทเรียนที่โรงเรียนจะประสิทธิ์ประสาทให้ 

บทเรียนบางบทอาจจะง่าย เราอาจจะเรียนได้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่บทเรียนบางบทอาจจะยาก เราต้องเรียนด้วยความยากลำบาก บางครั้งเราต้องเรียนด้วยน้ำตาแม้กระทั้งชีวิต 

นักเรียนบางคนชอบเรียนแบบง่าย ๆ ที่มีความสนุกสนาน แต่นักเรียนพวกนี้เมื่อได้รับบทเรียนที่ยากหน่อย ก็เกิดความท้อแท้ ท้อถอย และความทุกข์ใจ ต่างพยายามหนีจากโรงเรียนโดยวิธีฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่าครูผู้ให้บทเรียนบ้าง เขาเหล่านั้นย่อมจะเป็นนักเรียนที่ดีไม่ได้ เขาจะไม่ได้รับความรู้ชั้นสูง เขาจะโง่และสอบตกอยู่ในโรงเรียนโลกตลอดไป 

 คนที่เป็นบัณฑิตหรือคนฉลาด จะไม่ใช้วิธีการฆ่าตัวตาย เพราะรู้ว่ามีทางแก้ไขมากมาย และรู้ด้วยว่าชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นก็ต้องมีทางแก้ไข ไม่มีใครสักคนเดียวจะต้องประสบความทุกข์ตลอดชีวิต และก็ไม่มีใครสักคนเดียวประสบแต่ความสุขตลอดชีวิต 

ถ้าเรามีการศึกษาถูก มีสัมมาทิฏฐิ เราก็จะอ่านบทเรียนต่าง ๆ ได้ และตัดสินใจได้ด้วยอาวุธ คือ ปัญญา ให้รู้ว่ามันเป็นผลอันเกิดจากเหตุทั้งสิ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น